ในการคำนวณขนาดการติดตั้งโซล่าเซลล์ระบบออนกริดบนหลังคาบ้านทั่วๆไป มีความซับซ้อนน้อยกว่า และเงินลงทุนน้อยกว่าสเกลใหญ่ๆแบบในโรงงานมาก จึงทำให้ทางผู้ติดตั้งส่วนมากไม่ค่อยทำการคำนวณอย่างละเอียด
โดยมากในการประเมิณขนาดการติดตั้ง ผู้ติดตั้งจะมาดูแค่บิลค่าไฟแล้วกะๆเอา อย่างมากก็ให้เราวัดมิเตอร์ไฟ เช้า-เย็น เพื่อดูปริมาณการใช้ไฟในช่วงกลางวันเท่านั้นเอง
ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้ในบางเคส แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดความคาดเคลื่อนได้มาก ผมจึงเอาวิธีที่มีความเที่ยงตรงกว่ามาแนะนำซึ่งอาจจะซับซ้อนกว่าแบบที่ผู้ติดตั้งทำให้เล็กน้อย แต่ยังพอสามารถทำด้วยตัวเองได้ และผมแนะนำให้ทำก่อนที่จะทำการคุยกับผู้ติดตั้ง
สารบัญ
- ดูคลิป “วิธีประมาณขนาดการติดตั้งโซล่าเซลล์ ออนกริดสำหรับบ้าน”
- ปัญหาของการประมาณขนาดที่ผู้ติดตั้งทั่วไปทำกัน
- วิธีการวัดการใช้ไฟฟ้า แบบละเอียดกว่าปกติ
- การคำนวณขนาดติดตั้งโซล่าเซลล์
- Excel เปรียบเทียบการใช้ไฟ การผลิตไฟ
- สรุป
บทความต่อไปนี้ ผมสรุปมาจากคลิปด้านล่างครับ ใครขี้เกียจอ่านก็ฟังในคลิปเอานะ ใครอยากฟังใน “การประมาณขนาดอย่างง่าย”
ถ้าใครคิดว่ามีประโยชน์ อยากสนับสนุน ฟังสาระดีๆ ช่วยกด Like กด Share กด Subscribe
ให้ผมด้วยนะ
การหาขนาดติดตั้ง วิธีที่ 1
วิธีนี้เหมาะกับโฮมออฟฟิศ ที่มีการใช้ไฟตอนกลางวันค่อนข้างเยอะ เช่น ตัวอย่างบิลด้านล่างสำหรับโฮมออฟฟิศ ใช้ไฟเดือนละ 3,711 หน่วย
หลังจากนั้นเราหาการใช้ไฟฟ้าต่อ 1 วัน เราก็เอา 3,711 หารด้วย 30 วัน จะได้ 124 หน่วยโดยประมาณ ความหมายคือ ใน 1 วัน เราใช้ไฟทั้งหมด 124 หน่วย
หลังจากนั้นเรากะประมาณว่าเราใช้ไฟตอนกลางวันซัก 50% แปลว่าเราใช้ไฟตอนกลางวันซัก 60 หน่วย
เราก็เอา 60 หน่วย มาหารด้วยชั่วโมงแสงอาทิตย์ 4 ชั่วโมงต่อวัน จะได้เท่ากับ 15 ซึ่งเลขนี้จะมีหน่วยเป็น kW หมายความว่า คิดคร่าวๆเราสามารถติดตั้งโซล่าเซลล์ได้ถึง 15kW
การหาขนาดติดตั้ง วิธีที่ 2
วิธีนี้เหมาะกับบ้านที่มีคนอยู่ตอนกลางวัน เนื่องจากบ้านส่วนมากไม่ได้เป็นโฮมออฟฟิศเหมือนตัวอย่างที่ 1 แต่เป็นบ้านที่มีคนอยู่อาศัยในตอนกลางวัน เช่น ผู้สูงอายุต่างๆ ดังนั้นการใช้ไฟหลักจะเป็นตอนกลางคืนมากกว่า เราอาจจะใช้วิธีวัดไฟฟ้า 7 โมงเช้า และ 6 โมงเย็นแล้วเอามาลบกัน เพื่อหาการใช้ไฟตอนกลางวัน
เช่น เราอ่านมิเตอร์ 7 โมงตอนเช้าได้ 55023 และอ่านมิเตอร์ตอน 6 โมงเย็นได้ 55043 เราก็เอามาลบกัน ได้เท่ากับ 55043-55023 = 20 หน่วย หมายความว่าเราใช้ไฟช่วงกลางวันประมาณ 20 หน่วย เราก็หารด้วย 4 ได้เท่ากับ 5kW เราก็พอจะกะคร่าวๆได้ว่าบ้านเราควรติดตั้งโซล่าเซลล์ประมาณ 5kW
ซึ่งวิธีนี้เป็นการประมาณแบบหยาบๆ แต่หลายๆเคสน่าจะพอใช้ได้ครับ เพราะส่วนมากบ้านปกติทั่วไปหรือโฮมออฟฟิศ มักจะมีการใช้ไฟค่อนข้างคงที่ครับ และมักเปิดแอร์ในช่วงเที่ยงอยู่แล้ว
อีกวิธีง่ายสุดๆ (ในคลิป) คือเราดูจากบิลค่าไฟว่าเดือนๆนึงเราใช้ไฟประมาณกี่หน่วย แล้วเราใช้จำนวนแอร์ที่เราเปิดในการประมาณ ตัวอย่างเช่น
บ้านเราใช้ไฟเดือนละ 600 หน่วย เรามีแอร์ทั้งหมด 4 เครื่อง ใช้ตอนกลางคืน 3 เครื่อง ตอนกลางวัน 1 เครื่อง แบบนี้จะเท่ากับว่า เราใช้ไฟตอนกลางวันประมาณ 1 ใน 4 หรือ 25% ของทั้งหมด
เป็นการกะประมาณคร่าวๆ เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากๆส่วนมากจะเป็นแอร์ ส่วนเครื่องใช้อื่นๆเช่นตู้เย็น การกินไฟกลางวัน กลางคืนก็จะเฉลี่ยเท่าๆกัน ดังนั้นดูที่แอร์เป็นหลักนั่นเอง
ดังนั้นในเคสนี้เราประมาณได้ว่า แอร์ 1 เครื่องกินใช้ไฟต่อเดือนโดยประมาณ 600 หน่วย/4 เครื่อง = 150 หน่วย ดังนั้นใน 1 วันเราจะใช้ไฟโดยประมาณเท่ากับ 150 หน่วย/30วัน = วันละ 5 หน่วย
คำถามคือใช้ไฟวันละ 5 หน่วยต้องติดโซล่าเซลล์เท่าไหร่ดี โดยเลขง่ายๆที่คนนิยมใช้กันคือโซล่าเซลล์ 1kW จะผลิตไฟได้ราวๆ 4 หน่วย ดังนั้นในเคสนี้จะได้ว่า เราควรติดโซล่าเซลล์ ราวๆ 1-1.5kW นั่นเอง
ปัญหาของ วิธีที่ 1 และ วิธีที่ 2
ผมเห็นหลายเคสที่เป็นโฮมออฟฟิศ บางที่มีการใช้ไฟที่แปลกกว่าเคสปกติ ตัวอย่างเช่น งานเริ่มตอน 10 โมง หรือคนครึ่งออฟฟิศอยู่ออฟฟิศบ้างไม่อยู่บ้าง หรืออย่างอาคารอพาร์ทเมนต์ที่มีจำนวนห้องเยอะแต่การใช้ไฟตอนกลางวันกลับต่ำขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่อยู่
หรือแม้กระทั่งอาคารพาณิชย์ที่ใช้เป็นโรงงานขนาดเล็กมีการใช้เครื่องจักรแค่บางช่วงในตอนกลางวัน ทั้งหมดที่กล่าวมาจะมีการใช้ไฟฟ้าที่เหวี่ยงมาก หากวัดการใช้ไฟทั้งวันแล้วมาเฉลี่ยแบบที่ทำกันปกติจะทำให้มีไฟฟ้าส่วนเกินเยอะ และอาจทำให้ไม่ได้ลดค่าไฟเท่าที่ควร
การหาขนาดติดตั้ง วิธีที่ 3
วิธีนี้เหมาะกับที่ๆมีการใช้ไฟไม่ค่อยเหมือนกันในแต่ละวัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเคสไหน หลักการคือเราพยายามหาวันที่มีการใช้ไฟน้อยที่สุด เช่น วันที่พนักงานอยู่น้อย วันที่ผู้อาศัยในอพาร์ทเมนต์อยู่น้อย หรือวันที่ไม่มีการเดินเครื่องจักร เป็นต้น
ให้เราวัดการใช้ไฟของวันที่มีแนวโน้มจะใช้ไฟน้อยที่สุด แต่ต้องไม่เป็นวันที่ไม่มีการใช้ไฟเลย เช่น วันอาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยให้เราตีเป็น 0 ไปเลย แต่เราต้องเอาวันพวกนี้ไปคิดใน “การคำนวณจุดคุ้มทุน”
โดยให้เราวัดการใช้ไฟของวันที่เราเลือก ตอน 8, 10, 12, 15, 17(ห้าโมงเย็น) ประมาณ 3 วันคร่าวๆตามที่อธิบายด้านบน เอาไปสร้างกราฟในรูปที่ 3 (มี excel การคำนวณ ให้ดาวน์โหลด เพื่อไปคีย์ค่าไฟที่จดได้)
วิธีการวัดการใช้ไฟฟ้า
ตัวอย่างเช่น เราต้องการวัดการใช้ไฟฟ้าตอน 8 โมง เราก็ไปดูมิเตอร์ตอน 7.30 จดเลขมิเตอร์ไว้ แล้วเราไปดูมิเตอร์อีกทีตอน 8.30 แล้วจดเลขมิเตอร์เอาไว้อีกทีนึง
หลังจากได้เลข 2 ชุด ให้เอาเลขสองตัวที่ได้มาลบกัน เช่น สมมติตอน 7.30 จดเลขได้ 55023 (ตัวอย่างในรูปด้านล่าง) และตอน 8.30 จดเลขได้ 55025 แบบนี้เราก็เอา 55025 – 55023 = 2 หมายความว่า ช่วงประมาณ 8 โมง เราใช้ไฟเฉลี่ย 2 หน่วยนั่นเอง
วิธีการนำค่าที่จดได้ มาใช้หาขนาดระบบ
หลังจากนั้นเราก็เอาการใช้ไฟแต่ละเวลาที่เราจดเอามาสร้างการใช้ไฟฟ้า เอาการใช้ไฟของแต่ละวันมาเทียบการผลิตสูงสุด (โดยมากผู้ติดตั้งจะมีให้เลือกแค่ 3kW, 5kW และ 10kW สำหรับระบบขนาดเล็ก)
เช่นระบบ 5 kW ก็ดูคร่าวๆว่า ช่วงเวลา 10-15 มีช่วงเวลาไหน วันไหนที่การใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 5kW โดยเฉพาะตอนเที่ยงตรง ประมาณนี้นะ ลองดูตัวอย่างด้านล่าง
ก็ประมานนี้ครับ หากจะวัดมิเตอร์แบบละเอียด โดยปกติผู้ติดตั้งไม่ค่อยมีใครยอมทำให้เท่าไหร่ โดยเฉพาะระบบขนาด 3-5kW ที่เป็นแค่ระบบเล็กๆ เราอาจจะต้องดูคร่าวๆเองครับแล้วค่อยไปคุยกับผู้ติดตั้งอีกที
แต่มีข้อแนะนำอีกข้อนึงคือ ผู้ติดตั้งส่วนมากจะรับติดระบบเล็กสุดอยู่ที่ 3-5kW หากบ้านไหนที่ติด 3kW แล้วไฟยังเกินเยอะๆอยู่ ผมแนะนำว่าอย่าเพิ่งติดจะดีกว่านะ ยิ่งระบบเล็กราคาต่อวัตต์ยิ่งแพง ระยะเวลาการคุ้มทุนก็ช้าลงไปอีก
หากใครอยากลองเทียบการใช้ไฟกับระบบโซล่าเซลล์ดูสามารถดาวน์โหลดได้ที่ “โปรแกรม excel หาขนาดระบบโซล่าเซลล์อย่างง่าย”
สรุป
ถ้าดูคร่าวๆสำหรับการติดตั้งโซล่าเซลล์ ระบบออนกริด หากบ้านใครใช้เป็นออฟฟิศ ค่อยไปหากำลังติดตั้งตามด้านบน บ้านใครเป็นบ้านปกติที่ไม่มีคนอยู่ตอนกลางวัน หรือมีคนอยู่แต่ไม่ได้ใช้ไฟเยอะมากเช่น ไม่ได้ใช้เครื่องปรับอากาศ ก็ง่ายๆเลยครับ ไม่ต้องติดน่าจะดีกว่านะ ติดไปคงไม่ได้ลดค่าไฟอะไรมากครับ (นอกจากอนาคตมีรถยนต์ไฟฟ้า รัฐรับซื้อไฟ หรือ ใจรักที่จะใช้แบตเตอรี่ ก็ว่ากันไปครับ)
สำหรับวิธีการด้านบนเป็นการคำนวณหาขนาดการติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านพักอาศัยอย่างง่าย หลังจากที่เราทราบแล้วว่าพื้นที่ของบ้านเราควรติดโซล่าเซลล์หรือไม่ หากใครยังไม่ทราบให้ดูคลิปนี้นะ “บ้านเราควรติดโซล่าเซลล์หรือไม่”
หากเรามีการใช้ไฟที่คงที่ทั้งวัน ตั้งแต่ 8โมงเช้าถึง 5โมงเย็น เราสามารถใช้วิธีง่ายๆด้วยการ วัดมิเตอร์เช้า-เย็น แล้วหารชั่วโมงเฉลี่ยไปได้เลย แต่หากใช้ไฟขึ้นๆลงๆ ไม่คงที่ทั้งวัน แนะนำให้วัดมิเตอร์ในแต่ละช่วงเวลาจะเหมาะสมกว่าครับ