อุปกรณ์หลัก
อุปกรณ์อื่นๆ
เครื่องมือ และอุปกรณ์ในงานโซล่าเซลล์
คนส่วนมากรู้อยู่แล้วแหละว่าอุปกรณ์หลักๆสำหรับติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ สิ่งที่ต้องมีแน่ๆคือแผงโซล่าเซลล์ถูกมั้ย ซึ่งมือใหม่ส่วนมากจะมองว่าเรามีแผง เรามีแบตเตอรี่รถยนต์(ซึ่งเป็นแบตตะกั่ว) เราเอาไปเสียบเข้าด้วยกันแค่นี้ก็น่าจะจบ ซึ่งถามว่าใช้ได้มั้ยมันใช้ได้นะครับ แต่น่าจะไม่เกินเดือนแบตก็จะเสีย ไม่สามารถใช้งานได้ต่อ
สาเหตุหลักๆมาจากแบตเตอรี่ในรถยนต์ส่วนมากที่นำมาใช้เป็นแบตประเภท “Ignition” ซึ่งเป็นแบตที่เหมาะกับการให้ไฟฟ้าปริมาณสูงๆในช่วงเวลาสั้นๆ อย่างการสตาร์ทรถยนต์ หากต้องการใช้แบตเตอรี่ประเภทแบตตะกั่วสำหรับระบบโซล่าเซลล์ จำไว้เลยว่าต้องใช้แบตประเภท “Deep cycle” ครับ
แต่ปัจจุบันแบตลิเธียมที่เราได้ยินกันหลังๆมานี้ ราคาถูกลงมาอย่างรวดเร็ว ทำให้แบตเตอรี่อย่าง “ลิเธียมไอออนฟอสเฟต” เราใช้อักษรย่อว่า “LiFePO4” มีราคาใกล้เคียงกับแบตตะกั่วในปัจจุบัน แต่แบตเตอรี่ลิเธียมฟอสเฟตโดยปกติจะมีรอบการใช้งาน หรือ “Depth of Discharge” (DOD) ที่สูงกว่า ทำให้ในระยะยาวแบตเตอรี่ลิเธียมราคาถูกกว่าแบตตะกั่วแล้วครับ
บางคนอาจเลือกใช้แบตลิเธียมถูกประเภทแล้ว แต่ก็ยังเกิดปัญหาแบตเตอรี่บวม แบตเตอรี่เสียเร็ว สาเหตุส่วนมากมาจาก การที่ไม่ได้ใส่ตัวควบคุมการชาร์จอย่าง “Solar Charge Controller” และตัวหยุดการชาร์จอย่าง “BMS” ที่มีความสำคัญมากเช่นกันในการยืดอายุการใช้งาน เนื่องจากแบตลิเธียมไอออนเป็นแบตที่เสียหายได้ง่ายหากใช้ไม่ถูกต้อง
จากด้านบนที่พูดมาหากจะทำระบบไฟ DC แค่นี้ก็เรียกว่าใช้ได้แล้วนะ ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ค่อยสมบูรณ์ก็ตาม แต่หากใครต้องการใช้ไฟระบบ AC จะต้องใช้ตัวแปลงจากระบบ DC เป็น AC ซึ่งเราเรียกกันว่า “อินเวอร์เตอร์” หากใครยังไม่เข้าใจว่าระบบ AC และ ระบบ DC คืออะไร ให้ไปศึกษาที่ “ความแตกต่างไฟฟ้า DC AC”
อุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ
จาก 5 อุปกรณ์ที่ผมกล่าวมา (แผงโซล่าร์เซลล์, Solar charge controller, แบตลิเธียมฟอสเฟต, BMS และ Inverter) แค่นี้เรียกว่าระบบครบพร้อมใช้แล้ว (หากใครยังนึกภาพไม่ออกอยากดูของจริง ผมมีบรรยายไว้ใน “อุปกรณ์โซล่าเซลล์ ที่สำคัญในระบบ off-grid”
แต่โดยมากระบบพวกนี้ต้องมีพวกอุปกรณ์ safety อยู่ด้วยเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน ยิ่งเป็นมือใหม่ ยิ่งควรใส่อุปกรณ์ safety อย่างฟิวส์ หรือเบรคเกอร์ รวมถึงควรใส่อุปกรณ์เซฟตี้ต่างๆ เช่น แว่นนิรภัย ถุงมือฉนวน ไขควงฉนวน ที่มักถูกละเลยในบรรดาช่างที่มีความชำนาญแล้ว
ซึ่งถึงแม้ว่าระบบ low-volt อย่างโซล่าเซลล์ off-grid จะไม่อันตรายมากนัก แต่ไฟที่ถูกแปลงเป็นไฟบ้านจากอินเวอร์เตอร์สามารถทำอันตรายถึงชีวิตเราได้ รวมถึงการเผลอเอาขั้วสองขั้วไปแตะกันโดยไม่ตั้งใจก็สามารถทำให้เกิดสะเก็ดไฟ กระเด็นเข้าตาเราได้เช่นกัน
เครื่องมือ
หลักๆนอกจากเครื่องมือทั่วๆไปอย่างไขควง ประแจ ที่เราคุ้นเคยแล้ว ในการติดตั้งโซล่าเซลล์ เรายังต้องต้องมีอุปกรณ์ และเครื่องมืออื่นๆที่คนทั่วๆไปอาจไม่คุ้นเคย ซึ่งในงานโซล่าเซลล์ อุปกรณ์ที่จำเป็นเลยจะมี 4 เครื่องมือหลักๆในงานโซล่าเซลล์ (จะมีเครื่องมืออื่นด้วย แต่สามารถดัดแปลงได้)
- คีมตัดสายไฟ (Cable cutter)
- คีมปอกสายไฟ (Cable stripper)
- คีมย้ำหางปลา (Crimper)
- คีมย้ำหัว MC4 (MC4 Crimper)
4 เครื่องมือนี้มือใหม่ชอบ งง กัน ผมเลยทำวีดีโออธิบายไว้ใน “วิธีการใช้เครื่องมือ ช่างโซล่าเซลล์ off-grid” นะครับ
คีมย้ำหางปลาบางรุ่นสามารถใช้ย้ำสายไฟได้หลายประเภท ได้ทั้งหางปลา ได้ทั้ง MC4 แต่จากที่เคยเจอมา คีมที่ใช้ย้ำ MC4 ส่วนมากค่อนข้างเล็ก หากเอาไปย้ำหางปลาแข็งๆจะค่อนข้างลำบาก ส่วนคีมย้ำปกติจะมีหน้าตาของหัวที่แตกต่างจากตัวย้ำ MC4 ผมเลยแนะนำให้ซื้อแยกไปเลยครับ
คีมบางประเภทเป็น All-in-One คือทำได้ทุกอย่าง ซึ่งส่วนตัวผมไม่ค่อยชอบ ชอบใช้เป็นอย่างๆไปเลยมากกว่าเพราะคิดว่าเครื่องมือที่แยกหน้ากี่การใช้งาน มันทำหน้าที่ของมันได้ดีกว่า อย่างเช่นรูปด้านบนเป็นเครื่องมือแยก 2 เครื่องมือ คีมย้ำ กับเครื่องปอกสายไฟ ซึ่งบางทีเราจะเห็นเป็นพวกเครื่องมือสารพัดประโยชน์ ใช้ปอกสายไฟก็ได้ ใช้ย้ำหางปลาก็ได้
แค่นี้ก็เรียกว่าสามารถต่อระบบโซล่าเซลล์สำหรับการใช้งานจริงได้แล้ว ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน ผมแนะนำให้เริ่มจากระบบเล็กๆอย่าง ระบบโซล่าเซลล์ 12V 24V ก่อน แล้วพอเราชำนาญค่อยขยับไปยังระบบใหญ่ขึ้น ผมเชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถของทุกคน ซึ่งทุกการเริ่มต้นมักยากเสมอ พอเราคุ้นเคยแล้วจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับเรานะ