3 ข้อที่ควรดูก่อนตัดสินใจ ติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคา

วิธีดูว่าหลังคาบ้านเราเหมาะกับการติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามที่ผมตั้งขึ้นมาเนื่องจากมีเพื่อนรอบตัวเข้ามาถามว่า ทำไมติดแล้วมันไม่คุ้มเลย!! ติดแล้วผิดหวัง ไม่เห็นเหมือนที่ผู้ติดตั้งบอก

ซึ่งบทความนี้เป็นพื้นฐานอย่างแรกสุดที่เราควรรู้ก่อนการตัดสินใจหรือล้มเลิกการติดตั้งโซล่าเซลล์ 

สารบัญ

บทความต่อไปนี้ ผมสรุปมาจากคลิปด้านล่างครับ ใครขี้เกียจอ่านก็ฟังในคลิปเอานะ ใครอยากฟังใน Youtube ไปดูที่ลิงค์นี้ได้เลยครับ  “3 ข้อควรรู้ก่อนการตัดสินใจติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคา เพื่อให้คุ้มทุน

ถ้าใครคิดว่ามีประโยชน์ อยากสนับสนุน ฟังสาระดีๆ ช่วยกด Like กด Share กด Subscribe

ช่อง “Energy for Dummies“ ให้ผมด้วยนะ

ติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคา ไม่เวิร์คจริงหรือเปล่า?

อย่างที่บอกไปข้างต้น ผมเจอคำถามนี้มาเยอะจริงๆ ไหนๆก็ไหนๆแล้วผมขออธิบายให้ทุกคนเข้าใจเลยดีกว่าว่าทำไมคนส่วนมากที่เลือกติดตั้งโซล่าเซลล์ ถึงผิดหวังไปตามๆกัน

ที่ผมเขียนบทความนี้เพราะว่าผมไม่อยากให้เพื่อนๆไปเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ หรือแม้กระทั่งก็ไม่อยากให้ธุรกิจโซล่าเซลล์เองเสียเครดิต ซึ่งในบทความนี้ผมจะบอก 3 ข้อที่ควรดูก่อนตัดสินใจติดโซล่าเซลล์

แน่นอนว่าหากอยู่ๆเราโทรไปคุยกับผู้ติดตั้งโซล่าเซลล์ และบอกว่าสนใจอยากจะติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้าน หากเจอผู้ติดตั้งที่ไม่ได้มองผลประโยชน์ระยะยาวของเจ้าของบ้านละก็ เราอาจจะกลายเป็นหนึ่งคนที่บ่นว่า “ติดโซล่าเซลล์ ไม่เห็นจะคุ้มเลย”

หากอยากได้ผู้รับเหมาที่ดีให้ดูบทความนี้นะ "เลือกผู้รับเหมาติดตั้งแผงโซล่าเซลล์อย่างไร ไม่ให้โดนหลอก"

ซึ่งก็เลยเป็นสาเหตุหลักๆเลยที่คนชอบบ่นว่า ติดโซล่าเซลล์แล้วไม่คุ้ม ซึ่งโดยมากจะมาจากสาเหตุหลักๆอย่างที่บอกไปคือ ผลิตไฟฟ้ามาแล้วไม่ได้ใช้ กับ พื้นที่ในการติดตั้งโดนแสงเงาแดดต่างๆ มาดูรายละเอียดแต่ละข้อกัน

ติดโซล่าร์บนหลังคา

สาเหตุที่ 1 ผลิตไฟจากโซล่าเซลล์แล้วไม่ได้ใช้ทันที

มาดูเรื่องการใช้ไฟฟ้ากันก่อน ผมขออธิบายอย่างนี้นะ คนส่วนมากชอบเข้าใจผิดว่าติดโซล่าเซลล์มาผลิตไฟแล้วหากไม่ได้ใช้มันก็เก็บไว้ค่อยใช้ทีหลังได้ จริงๆแล้วไม่ใช่ครับ ความเป็นจริงคือ มันผลิตแล้วถ้าไม่มีการใช้ ไฟที่ผลิตได้ก็จะถูกปล่อยทิ้งไปเฉยๆ

ถึงแม้จะเป็นระบบ on-grid ที่เชื่อมกับการไฟฟ้าก็ตาม แต่หากเราไม่ได้ขออนุญาตการไฟฟ้าในการติดตั้งโซล่าเซลล์ และไม่ได้ขอขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าอย่างถูกต้อง แบบนี้ไฟฟ้าที่เราผลิตได้ก็จะถูกเอาไปให้บ้านอื่นใช้ฟรีๆ 

ลดค่าไฟฟ้า

พอเป็นแบบนี้แล้วเราจะเห็นว่า ค่าไฟก็ไม่ได้ลด เสียเงินทำระบบอีก หนำซ้ำหากใช้อินเวอร์เตอร์ที่ไม่มีตัวป้องกันการไหลย้อนกลับ ยังอาจเกิดความอันตรายกับพนักงานการไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนกลางอีกต่างหาก

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของวันหยุดต่างๆที่คนส่วนมากลืมคำนวณไป อย่างบางคนติดโซล่าเซลล์เพื่อใช้ที่ออฟฟิศ ซึ่งดูเหมือนว่าการใช้ไฟเดือนๆนึงค่อนข้างเยอะและดูเหมือนการติดตั้งโซล่าเซลล์จะมีความเหมาะสม แต่เราลืมคำนวณวันหยุดไป เช่น บางทีไม่ได้ทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ เท่ากับว่าใน 1 อาทิตย์ 7 วัน การใช้ไฟของเราหายไป 2 วัน ซึ่งเท่ากับ 28%!! ถือว่าเยอะมากๆ

แต่อีกเคสนึงที่ผมเจอ ตัวอย่างเช่น บ้านเราเป็นโฮมออฟฟิศ เสาร์-อาทิตย์ ยังพอมีการใช้ไฟบ้าง แต่ไม่เยอะเท่าวันปกติ แบบนี้เราอาจเลือกใช้ระบบที่เล็กลงมาหน่อยเพื่อให้ไม่เกิดไฟเกินในช่วง เสาร์-อาทิตย์ เยอะเกินไป ซึ่งการทำแบบนี้ถึงแม้จะลดค่าไฟได้น้อย แต่เงินลงทุนก็น้อยลงตามเช่นกัน

ดังนั้นก่อนจะไปคุยกับผู้รับเหมา เราควรมีความรู้คร่าวๆก่อนการพูดคุย และถ้าให้ดูเราอาจคิดคำนวณขนาดที่เหมาะสมกับบ้านเราเบื้องต้น โดยวิธีการสามารถไปดูได้ที่ “วิธีประมาณขนาดการติดตั้งโซล่าเซลล์ ระบบ on-grid ให้เหมาะกับบ้านเรา”

สาเหตุที่ 2 พื้นที่ติดตั้งไม่เหมาะสม

ส่วนข้อที่สอง ที่ทำให้การติดตั้งโซล่าเซลล์ ไม่คุ้มคือการติดตั้งที่ไม่เหมาะสม อย่างเช่นการติดตั้งบริเวณที่มีเงา ซึ่งเงาแม้เพียงเล็กน้อยแต่กลับมีผลอย่างมากต่อการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์

เนื่องจากโซล่าเซลล์ค่อนข้างเซ้นสิทีฟกับเงาโดยเฉพาะเงาที่มีความเข้ม (เห็นเป็นเส้นเงาชัดเจน) ผู้ติดตั้งบางคนไม่ได้ดูตรงนี้ให้เจ้าของบ้านเลย เท่าที่เห็นบางทีพูดว่าอยู่ใต้เงาโซล่าเซลล์มันก็ผลิตไฟได้

ซึ่งถามว่าได้จริงมั้ย มันก็ได้จริงนะแต่เหลือแค่ 10-20% แบบนี้ความคุ้มค่าไม่รู้จะหาจากไหน อย่างเงาต้นไม้ เงาของเสาอากาศเล็กๆ หรือแม้กระทั่ง ความเอียงของหลังคาบ้านก็มีผลนะครับ(จริงๆผมควรจะพูดเรื่องความเอียงบ้านด้วยว่าควรหันไปทางทิศ “ใต้ 15 องศา” นะ

ทีนี้ดวงอาทิตย์มันไม่ได้อยู่กับที่ มันขยับทั้งวัน แบบนี้เราจะดูยังไงว่าหลังคาเราจะโดนเงาไหม ผมจะบอกวิธีการดูคร่าวๆให้นะ (รูปภาพ Sun Path)

Sun path

ขั้นตอนการดูตำแหน่งที่เหมาะสม

  • ให้ไปยืนที่ตำแหน่งที่เราต้องการจะติดโซล่าเซลล์ หรือลองจินตนาการว่าเราอยู่ตรงจุดนั้นก็ได้
  • หันหน้าไปทางทิศใต้ มองตรงไปแล้วก้มลงมาซัก 45 องศา ดูว่ามีอะไรบังมั้ย (มาจากตำแหน่งดวงอาทิตย์ช่วงฤดูหนาวที่ต่ำที่สุด จริงๆไม่จำเป็นต้องต่ำขนาด 45 องศาก็ได้ ผมเผื่อไว้พอประมาณ)
  • เสร็จให้หันซ้าย-ขวา 45 องศา ก้มลง 45 องศาเหมือนเดิม ดูว่าว่ามีอะไรบังมั้ย
  • สุดท้ายก็หัน 90 องศา ซ้ายขวาจากทิศใต้ แล้วทำเหมือนเดิม

ถ้ามองทุกทิศไม่มีอะไรบัง หลังคาเอียงไปทางทิศใต้หรือใกล้เคียง ก็มั่นใจได้เลยว่าน่าจะได้ไฟเกือบเต็มที่เลยแหละ การคุ้มทุนนี่น่าจะดีเลยถ้าใช้ไฟฟ้าหมดตามคำแนะนำ

ข้อ 3 โครงสร้างหลังคา

ข้อสุดท้าย คือเรื่องของโครงสร้างหลังคา สาเหตุที่ผมไม่ได้มองว่าอยู่ใน 2 ข้อหลักเพราะบ้านส่วนมากไม่ค่อยมีปัญหาตรงนี้เนื่องจากส่วนมากถูกออกแบบมาให้รับน้ำหนักโซล่าเซลล์ได้

แต่อาจจะมีบ้างสำหรับบ้านที่มีอายุมากๆ เช่นพวกตึกแถวเก่าๆในเมือง ซึ่งโครงสร้างหลังคาเป็นข้อหนึ่งที่สำคัญและควรดูเช่นกัน หากมีความจำเป็นต้องเสริมหลังคา ผมแนะนำให้รอจนกว่าตึกจะรีโนเวทแล้วค่อยติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคา น่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า

หรือใครจะเสริมหลังคาไปเลยก็สุดแล้วแต่ ขึ้นกับความใจรักของแต่ละคนครับ

สรุป

หลักๆก็มีสองสามข้อนี้แหละครับ ที่เป็นตัวแปรที่สำคัญว่าการติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านของเราจะคุ้มทุนหรือเปล่า ทบทวนอีกรอบก็จะมี ปริมาณและลักษณะการใช้ไฟ สภาพแวดล้อมในการการติดตั้ง เงาต่างๆ หรือความเอียงหลังคา สามคือโครงสร้างหลังคาว่าต้องทำอะไรเพิ่มหรือเปล่า

ถ้าใครคิดว่ามีประโยชน์ อยากสนับสนุน ฟังสาระดีๆ ช่วยกด Like กด Share กด Subscribe

ช่อง “Energy for Dummies” ให้ผมด้วยนะ