เชื่อว่าหลายคนที่เข้ามาอ่านตรงนี้คงจะสนใจติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาสำหรับระบบออนกริด และกำลังมองหาผู้ติดตั้งโซล่าเซลล์กัน วันนี้ผมมี “6 วิธีการเลือกผู้รับเหมาติดตั้งแผงโซล่าเซลล์อย่างไร ไม่ให้ถูกหลอก” มาแนะนำให้เพื่อนๆฟังกัน
สารบัญ
- ดูคลิป “6ข้อควรรู้ การเลือกผู้รับเหมาติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ที่ดี”
- ดูความใส่ใจของผู้รับเหมา
- ดู Track records
- หารีวิวในอินเตอร์เน็ต
- การดูการรับประกันต่างๆ
- ความเชี่ยวชาญของผู้ติดตั้ง
- พยายามเลือกผู้ติดตั้งท้องถิ่น
- สรุป
บทความต่อไปนี้ ผมสรุปมาจากคลิปด้านล่างครับ ใครขี้เกียจอ่านก็ฟังในคลิปเอานะ ใครอยากฟังใน “6 ข้อควรรู้ สำหรับการเลือกผู้รับเหมาติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ที่ดี”
ถ้าใครคิดว่ามีประโยชน์ อยากสนับสนุน ฟังสาระดีๆ ช่วยกด Like กด Share กด Subscribe
ให้ผมด้วยนะ
ผมทราบดีว่าการเลือกผู้รับเหมาติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสำหรับประเทศเราอุตสาหกรรมนี้เกิดมาได้ไม่นาน และยังไม่มีใครลองถูกลองผิด และออกมาวิจารณ์หรือออกมาชมให้เราได้ฟังกันเท่าไหร่
ผมในฐานะที่เป็นคนนึงที่เคยช่วยธนาคารและโครงการขนาดใหญ่ ตรวจสอบผู้รับเหมาโครงการโซล่าเซลล์มาบ้าง พอมองเห็นวิธีการในการเสาะหาผู้รับเหมาที่ดี ซึ่งบางข้อเกิดจากที่ผมพยายามหาผู้ติดตั้งโซล่าเซลล์ไว้ใช้ในบ้านตัวเองด้วย และเกิดการเปรียบเทียบกับหลายๆเจ้า
วิธีดูจะมีทั้งหมด 6 ข้อซึ่งผมเข้าใจว่าหากจะดูทั้งหมดนั้นเป็นไปได้ยาก หากไม่สามารถทำได้ทั้งหมดก็ไม่เป็นไรครับ แต่ทำได้เยอะมากเท่าไหร่ผมคิดว่าก็น่าจะส่งผลดีต่อการติดตั้งของเราครับ
การเลือกผู้รับเหมาติดตั้งโซล่าเซลล์ จริงๆแล้วคล้ายๆกับการเลือกผู้รับเหมาสร้างบ้านทั่วๆไป เราไม่จำเป็นต้องรู้เทคนิคลึกอะไรมากมาย แต่มีความแตกต่างจุดนึงคือ การเลือกผู้รับเหมาติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ “ไม่ควรเลือกจากการบอกต่อ” อันนี้ผมต้องเน้นย้ำเลย
เพราะว่าคนทั่วไปที่ติดตั้งโซล่าเซลล์เค้าไม่รู้หรอกว่าผู้รับเหมารายนั้นดีหรือไม่ดี จนกว่าจะใช้ไปซัก 10ปี แล้วระบบไม่เสีย บริษัทติดตั้งนั้นยังดูแลอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นเราไม่สามารถดูแค่เพียงระยะเวลาสั้นๆได้
ไม่เหมือนการเลือกผู้รับเหมาสร้างบ้าน ที่เราเห็นว่าไม่ทิ้งงาน วัสดุตามสเป็ค มีวิศวกรมาควบคุม ขั้นตอนการก่อสร้างถูกต้องครบถ้วน ทำตามกรอบเวลาที่กำหนด ก็พอจะแนะนำได้
ดังนั้น 6 ข้อที่ผมจะเอามาฝากกันมีดังนี้
1. ความใส่ใจ ของผู้รับเหมาติดตั้งแผงโซล่าเซลล์
ข้อแนะนำแรกของผมคือ พยายามดูความใส่ใจของผู้ติดตั้ง มีการมาดูหน้างานก่อนการติดตั้ง ดูความแข็งแรงของโครงสร้างหลังคา ดูตำแหน่งการติดตั้ง ดูลักษณะการใช้ไฟ ดูสิ่งกีดขวางที่อาจทำให้เกิดเงาบนระบบและอาจทำให้ระบบทำงานได้ไม่เต็มที่
ผู้รับเหมาบางคนคือ บอกว่าติดได้ ให้โอนมัดจำก่อน แต่ถึงเวลาจะติดจริงกลับบอกว่าต้องเสริมนู่นเสริมนี่ ต้องเสียเงินค่าเสริมหลังคา ซึ่งบางทีแพงกว่าค่าระบบโซล่าเซลล์อีก
และที่สำคัญคือเรื่องการขออนุญาต ผู้ติดตั้งที่ดีควรจะแนะนำให้เราขออนุญาตอย่างถูกต้อง และอธิบายถึงค่าใช้จ่ายต่างๆในการขออนุญาต เพราะว่าผมเห็นส่วนมากที่ทำกันคือบอกลูกค้าว่า เค้าไม่ขอกันเพราะขอแล้วต้องเสียค่าใช้จ่ายนู้นนี้
สิ่งที่ผู้รับเหมากำลังทำคือ พยายามทำให้ราคามันดูไม่แพง ซึ่งไม่ดีนะ หากอนาคตถูกตรวจสอบจากการไฟฟ้าหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขึ้นมาจริงๆ คนที่ต้องรับผิดชอบคือเจ้าของบ้าน ดังนั้นดูค่าใช้จ่ายให้ครบ ถ้ามันแพงละไม่ไหวก็อย่าไปติดครับ รอตลาดมันถูกลงละค่อยติดครับ
2. ดูรูปภาพผลงาน ประสบการณ์ที่ผ่านมา
ขอดูผลงาน หรือที่เราเรียกว่า track record ดูประสบการณ์ทำงานการทำโปรเจคเก่าๆของผู้รับเหมา อาจจะดูเป็นลักษณะภาพถ่ายต่างๆ ว่ามีความเรียบร้อยหรือไม่ ดูเท่าที่ดูได้นะครับ เช่นความเรียบร้อยเรื่องการติดตั้งแผง หรือความเรียบร้อยของการเดินสายไฟนะ (รูปภาพจาก Revolusun)
3. หารีวิวในอินเตอร์เน็ต
ข้อนี้ผมเข้าใจว่าทำได้ค่อนข้างยากนะ เพราะอย่างที่บอกไปว่าปัจจุบันยังไม่ได้มีการติดตั้งอย่างแพร่หลายเท่าไหร่ การที่คนจะออกมาบ่น ออกมารีวิวให้ในอินเตอร์เนตมีค่อนข้างน้อย แต่อย่างน้อยลองเสิชหาในอินเตอร์เน็ตดูก่อน เผื่อฟลุคเจอละเป็นผู้ติดตั้งที่มีปัญหาจริงๆละก็ จะได้ตัดหางปล่อยวัดไปได้เลย
4. รับประกันสินค้าและงานติดตั้ง
เรื่องของการประกัน เราควรดูเรื่องของการรับประกันต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การรับประกันไฟออก 25 ปี หรือ performance warranty (ไม่แน่ใจเคยได้ยินกันไหม) ผมได้ยินคำนี้บ่อยมากรับประกันไฟออก 25ปี
คือผมขออธิบายแบบนี้ ปกติแผงโซล่าเซลล์จะมีการรับประกันประสิทธิภาพแผงอยู่แล้ว 25ปี แต่ลองนึกดูว่าคนธรรมดาๆทั่วไปจะไปรู้ได้ยังไงว่าไฟมันยังออกตามประสิทธิภาพอยู่ ถึงเวลาเสียจริงๆก็ต้องส่งไป test ไปอะไรอีก ซึ่งส่วนมากคงไม่ได้มีเวลาขนาดนั้น
ที่บอกว่าต้องมีรับประกันอย่างอื่นด้วยเช่น รับประกันผลิตภัณฑ์ หรือ Product warranty อันนี้รับประกันดีเฟคต่างๆที่เกิดจากโรงงาน ซึ่งก็พิสูจน์กันยาวเช่นกัน (รูปภาพจาก Jinko Solar)
การรับประกันตัวสุดท้ายที่ผมอยากให้เน้นคือ รับประกันงานติดตั้งจากผู้รับเหมาเอง เพราะ 90% แผงหรืออุปกรณ์มันไม่ได้มีปัญหามาจากโรงงาน แต่มันมีปัญหาจากการติดตั้ง การขนส่ง หรือการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นหากเกิดปัญหาเหล่านี้
ระบบมักจะแสดงความเสียหายออกมาช่วง 2-3 ปีแรก (อาจจะนานกว่านั้น) ดังนั้นทุกงานติดตั้งควรมีการรับประกันอย่างน้อยๆ 2-3 ปี ยิ่งนานยิ่งดี ขึ้นอยู่กับการเจรจา
ที่สำคัญมากๆอีกอย่างคือ ควรดูการรับประกันการตั้งแต่ก่อนเซ็นสัญญา และทุกอย่างควรระบุไว้ในสัญญาอย่างชัดเจน เพราะอำนาจการต่อรองของเรามากที่สุดตอนก่อนจะซื้อนะครับ
ไม่ใช่ซื้อแล้ว เซ็นสัญญาแล้วค่อยมาคุยการรับประกัน ผู้รับเหมาเค้าคงไม่สนใจแล้วถึงตอนนั้น พยายามให้มั่นใจว่าผู้รับเหมาเค้าจะอยู่ฝั่งเดียวกับเราเมื่ออุปกรณ์มีปัญหานะครับ
5. ความเชี่ยวชาญของผู้ติดตั้ง
เรื่องความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ดูได้จากการผ่านการอบรมการติดตั้งจากที่ต่างๆ ซึ่งในต่างประเทศมักจะมีใบอนุญาตติดตั้ง แต่ในเมืองไทยปัจจุบันจะมีของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แต่ยังไม่ถูกบังคับใช้ และผมเชื่อว่าผู้ติดตั้งส่วนมากไม่มีใบอบรมนี้ (อัพเดท 2021)
สิ่งที่พอจะดูได้อีกอย่างคือ มีวิศวกรไฟฟ้าในการออกแบบ วิศวกรโยธาในการดูโครงสร้างหลังคาของเรา หากอยากดูว่าวิศวกรเค้าดูอะไรบ้างผมแนะนำให้ดูคลิปนี้ “การสำรวจหลังคาก่อนการติดตั้งโซล่าเซลล์”
6. เลือกผู้ติดตั้งท้องถิ่น
การเลือกผู้ติดตั้งที่อยู่ไม่ไกลจนเกินไป ทำให้สามารถดูแลเราได้ตลอด ไม่ใช่ว่าบ้านเราอยู่กรุงเทพ แต่เราไปเลือกผู้รับเหมาติดตั้งโซล่าแผงเซลล์อยู่ที่เชียงใหม่ แบบนี้จะให้มาซ่อมอะไรแต่ละทีคงจะอิดออดพอสมควร
ข้อดีอีกประการของการเลือกผู้รับเหมาใกล้บ้านคือ ส่วนมากผู้รับเหมาที่ทำประจำในเขตใดเขตหนึ่ง หรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งจะมีความคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และกฎหมายท้องถิ่น (พวกเทศบัญญัติ เกี่ยวกับอาคารต่างๆตามต่างจังหวัด หรือกฎหมายพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานคร) ซึ่งจะทำให้การเดินเรื่องต่างๆรวดเร็วและง่ายขึ้นนั่นเอง
สรุป
การเลือกผู้รับเหมาติดตั้งแผงโซล่าเซลล์น่าจะประมานนี้ครับ ผมข้อสรุปให้ฟังทั้งหมด 6 ข้ออีกทีนึงนะครับ
- ความใส่ใจของผู้รับเหมา
- ดูผลงาน ประสบการณ์การรับงานจากที่ต่างๆ
- รีวิวในอินเตอร์เน็ต
- การรับประกันต่างๆ
- ความเชี่ยวชาญของผู้ติดตั้ง
- พยายามเลือกผู้ติดตั้งที่อยู่ใกล้ เพื่อความสะดวกหากเกิดปัญหา
ถ้าใครดู 6 ข้อนี้ครบ ผมเชื่อว่าโดยมากน่าจะได้ผู้ติดตั้งที่มีคุณภาพครับ
ถ้าใครคิดว่ามีประโยชน์ อยากสนับสนุน ฟังสาระดีๆ ช่วยกด Like กด Share กด Subscribe
ให้ผมด้วยนะ