คำถามที่ผมมักจะถูกถามจากเจ้าของโรงงานคือ “ติด Solar Rooftop บนหลังคาโรงงานนี่มันคุ้มหรือยัง” ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะมีคนที่่ติดจริงให้คำตอบว่าคุ้มและไม่คุ้ม
ทำให้เจ้าของโรงงานหลายๆท่านเกิดความครางแครงใจไม่กล้าติด เนื่องจากเงินลงทุนก็สูงเป็นหลักสิบล้านบาท แต่ในขณะเดียวกันผลตอบแทนมันก็ช่างยั่วยวนนักลงทุนเช่นกัน
หากถามผมว่าติดโซล่าเซลล์บนหลังคาโรงงานมันคุ้มหรือยัง ให้ผมตอบสั้นๆ ก็คือคุ้มแล้วแหละ แต่….มันมีเงื่อนไขหลายอย่างมากๆ ส่วนมากคนที่ติดแล้วไม่คุ้มสาเหตุมาจากติด Solar Rooftop ด้วยขนาดที่ไม่เหมาะสม
ดังนั้นในบทความนี้ผมจะอธิบายอย่างละเอียดว่า เราจะดูได้อย่างไรว่าขนาดของระบบโซล่าเซลล์ที่ผู้ติดตั้งคำนวณมาให้เราคือขนาดที่เหมาะสมกับการใช้ไฟของโรงงงานของเรา ไม่ผลิตไฟฟ้าเหลือทิ้งๆขว้างๆ
พอเราได้ขนาดที่เหมาะสม เราค่อยไปคำนวณจุดคุ้มทุนกัน “วิธีคำนวณจุดคุ้มทุนโซล่าเซลล์” เราไปดูกันว่าการดูขนาดติดตั้งโซล่าเซลล์เบื้องต้น สำหรับโรงงาน เค้าทำกันยังไง
สารบัญ
- ดูคลิป “ตรวจสอบขนาดติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาโรงงาน”
- การคำนวณ Solar Rooftop สำหรับโรงงาน
- ขั้นตอนว่าจ้างผู้ติดตั้ง
- การดู Load Profile รายเดือน
- การดู Load Profile รายวัน
- การดู Load Profile รายชั่วโมง
- การคำนวณหาขนาดติดตั้ง
- สรุป
บทความต่อไปนี้ ผมสรุปมาจากคลิปด้านล่างครับ ใครขี้เกียจอ่านก็ฟังในคลิปเอานะ ใครอยากฟังใน “การตรวจสอบขนาดติดตั้งเบื้องต้นสำหรับหลังคาโรงงาน”
ถ้าใครคิดว่ามีประโยชน์ อยากสนับสนุน ฟังสาระดีๆ ช่วยกด Like กด Share กด Subscribe
ให้ผมด้วยนะ
การคำนวณ Solar Rooftop สำหรับโรงงาน
ในการกะขนาดระบบ Solar Rooftop สิ่งแรกที่เราควรรู้คือการใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะในระบบโซล่าเซลล์ขนาดใหญ่อย่างบนหลังคาโรงงานซึ่งมีเงินลงทุนค่อนข้างสูง (อยู่ราวๆ 10-30 ล้านบาท) ดังนั้นการประมาณขนาดระบบควรทำอย่างละเอียด
ซึ่งโดยปกติไม่ว่าจะเป็นโรงงานหรือบ้านพักอาศัย หากจะคำนวณขนาดของระบบโซล่าเซลล์ ต้องเริ่มจากการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก โดยหลักการในการวัดการใช้ไฟฟ้าคือ “วันที่เราใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุด” เพราะวันที่เราใช้ไฟฟ้าน้อย มักจะเกิดไฟฟ้าส่วนเกินซึ่งต้องปล่อยทิ้งไปฟรีๆนั่นเอง
พูดอีกแบบคือหากไฟขาด เรายังสามารถใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าได้ แต่หากเราผลิตไฟฟ้าเกินเราต้องปล่อยทิ้งไป ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ระบบคืนทุนช้า เพราะฉะนั้นอย่าให้ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ผลิตเกินความต้องการจะดีที่สุด
ปกติก่อนที่ผู้ติดตั้งจะส่งขนาดการติดตั้งมาให้เรา ทางผู้ติดตั้งจะเข้ามาสำรวจหลังคาก่อนรอบนึง รวมถึงขอ load profile ของโรงงานเอาไปวิเคราะห์ดูขนาดติดตั้ง ซึ่งจะมีอยู่หลายวิธีคือ
- ใช้โปรแกรมในการคำนวณ
- ใช้วันที่ใช้ไฟต่ำที่สุดในการประมาณการ
ขั้นตอนว่าจ้างผู้ติดตั้ง
หลังจากนั้นผู้ติดตั้งจะขอ Username หรือ Password เพื่อที่จะไปดาวน์โหลด load profile หรือลักษณะการใช้ไฟฟ้าของเราจากเว็บไซต์ของ PEA แล้วเอา load profile มาวิเคราะห์ว่ากำลังติดตั้งว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ (ผมแนะนำว่าถ้ามีใครพอทำเป็น ให้คนของเราโหลดแล้วส่งให้เค้าอาจจะดีกว่า แต่ถ้าไม่ซีเรียสว่าใครจะมารู้การใช้ไฟฟ้าของเรา ก็ไม่เป็นไรครับ)
โดยส่วนมากผู้ติดตั้งจะเป็นผู้ออกแบบขนาดการติดตั้งให้ แต่ผู้ติดตั้งบางเจ้าอาจพยายามติดให้เต็มหลังคา ไม่สนว่าโรงงานนั้นจะใช้ไฟฟ้าที่ผลิตมาหมดหรือไม่
คำถามที่เจ้าของโรงงานควรถามตัวเอง คือ”แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขนาดติดตั้งที่ผู้ติดตั้งเสนอมา มันเหมาะสมแล้วหรือยัง”
ผมจึงเอาวิธีดูคร่าวๆมาให้เพื่อนๆดู ว่าโรงงานของเราควรติดตั้งโซล่าเซลล์ที่ขนาดประมาณเท่าไหร่ เพื่อที่เราจะเอาไปตรวจสอบเบื้องต้นกับขนาดที่ทางผู้ติดตั้งเสนอมา
แต่ต้องบอกก่อนว่า แต่ละผู้ติดตั้งจะมีวิธีการคำนวณในแบบของตัวเอง ซึ่งตัวเลขกำลังติดตั้งอาจจะต่างกันบ้างนิดๆหน่อยๆ แต่ก็ไม่ควรต่างกันมากจนเกินไปนะครับ ถ้าผู้ติดตั้งเสนอตัวเลขมาเยอะกว่าที่เราคาดไว้มากๆ ก็คงจะไม่ดีเท่าไหร่
เรามาดูวิธีการประมาณขนาดติดตั้งคร่าวๆกันดีกว่าว่าเราจะดูได้อย่างไร ก่อนอื่นให้เราติดต่อไปที่ทาง PEA เพื่อขอ Username และ Password กับทาง PEA ก่อน ซึ่งต้องใช้การยินยอมจากกรรมการบริษัทด้วยนะ
หลังจากได้รับ Username และ Password แล้วให้เราไป Login ที่เว็บไซต์ AMR ของทาง PEA ตามรูปด้านล่างครับครับ
การดู Load Profile รายเดือน
พอเรา login เข้ามาแล้วเราจะมาเจอหน้าตามรูปด้านล่าง ให้เราไปที่ 1. Load Profile -> 2. รายปี เราจะได้หน้าจอตามรูปด้านล่าง ให้เราติ๊กข้อมูลตามรูปเลยนะ
ที่เราต้องทำตรงนี้เนื่องจากว่าเราต้องการจะหาคร่าวๆก่อนว่า “เดือนไหนโรงงานเราใช้ไฟน้อยที่สุด” โดยมากทั่วๆไปจะเป็นช่วงฤดูหนาว เนื่องจากอากาศเย็น เครื่องปรับอากาศไม่ต้องทำงานหนัก แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้เสมอไปนะ บางโรงงานผลิตเยอะช่วงปลายปีก็มีครับ
พอเราทำขั้นตอนด้านบนเสร็จ เราจะได้ตามรูปด้านล่างนะ เราจะเห็นว่า เดือนธันวาคมเป็นเดือนที่ใช้ไฟโดยรวมน้อยที่สุด แต่เนื่องจากเดือนธันวาคมเป็นเดือนที่มีวันหยุดเยอะ และปลายๆเดือนจะไม่ค่อยมีการผลิตกันแล้ว
จึงทำให้การใช้ไฟฟ้าในเดือนธันวาคมค่อนข้างน้อยกว่าปกติ ผมจึงขอเลือกเดือนพฤศจิกายนมาเป็นตัวแทนนะ ซึ่งก็พอใช้ได้เช่นกัน
การดู Load Profile รายวัน
หลังจากนั้นให้เราหาวันที่ใช้ฟน้อยที่สุด จากที่เดือนที่เราเลือกมา เอามาดูข้อมูลเพิ่มเพื่อหา “วันที่ใช้ไฟน้อยที่สุด” โดยไปที่ 1.โหลดโปรไฟล์ -> 2. รายเดือน ให้เราติ๊กช่องต่างๆตามรูปครับ
หลังจากเราทำตามภาพด้านบน เมื่อกด”ตกลง” เราจะได้ข้อมูลกราฟตามรูปด้านล่าง เป็นลักษณะการใช้ไฟรายวันของเดือนที่เราเลือก จะเห็นจากกราฟว่า โรงงานต่อไปในี้ ไม่ได้ทำงานวันอาทิตย์ จึงทำให้การใช้พลังงานวันอาทิตย์ต่ำมากๆ
ดังนั้นวันอาทิตย์เราจะไม่นำมาใช้ในการคำนวณนี้ แต่เราจะนับเป็น 0 ไปเลย ให้เราเอาจำนวนวันที่ไม่มีการใช้ไฟไปหักวันที่ใช้ในการคำนวณจุดคุ้มทุนในบท “คำนวณจุดคุ้มทุนของระบบโซล่าเซลล์”
ให้เราเลือกวันที่มีการใช้ไฟค่อนข้างต่ำ จากรูปผมมองว่ามี 2 วันที่การใช้ไฟค่อนข้างต่ำ คือวันที่ 9 และ วันที่ 30 พฤศจิกายน เลือกวันไหนก็ได้นะ ประมาณๆเอาไม่ต้องเป๊ะครับ ผมขอเลือกวันที่ 9 เป็นตัวแทนนะ
การดู Load Profile รายชั่วโมง
หลังจากที่เราเลือกวันได้แล้ว เราก็ทำตามขั้นตอนเดิม เพื่อเข้าไปดูรายละเอียดรายวัน เพื่อดูว่าในวันนั้นๆ “ชั่วโมงไหนที่มีการใช้ไฟต่ำที่สุด” โดยให้เราไปที่ 1. โหลดโพรไฟล์ -> 2. รายวัน และให้เลือกตามรูปนะ ขอเน้นตรงนี้นิดหน่อยอย่าลืมเปลี่ยนจาก kWh เป็น kW ไม่งั้นเราจะได้ข้อมูล 15 นาที จริงๆใช้ได้เหมือนกัน แต่ต้องเอามาคำนวณเพิ่มอีกหน่อย ดังนั้นให้เลือกเป็น kW ไปเลย
หลังจากกด “ตกลง” เราจะได้กราฟเส้นตามรูปนะครับ ให้เราดูช่วง 10-15 นาฬิกา ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบโซล่าเซลล์ของเราผลิตพลังงานได้มากที่สุด ซึ่งจากกราฟ เราต้องหาจุดที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้ระบบโซล่าเซลล์ของเราผลิตเกินความต้องการ
จากกราฟด้านล่างจะเห็นว่า ช่วงเที่ยงคือช่วงที่การใช้ไฟฟ้าต่ำที่สุดเนื่องจากพนักงานออกไปรับประทานอาหารกัน จึงใช้ตอนเที่ยงเป็นจุดอ้างอิง ซึ่งการใช้ไฟอยู่ที่ประมาณ 330kW
การคำนวณหาขนาดติดตั้ง
ทีนี้ 330kW เป็นเพียงพลังงานที่เราผลิตได้ ซึ่งระบบเราประสิทธิภาพจะอยู่แค่ประมาณ 80-85% ดังนั้น เราเอา 330kW หารด้วย 80% จะเท่ากับ 412kW โดยประมาณ ซึ่งก็คือกำลังติดตั้งสูงสุดที่เราติดตั้งแล้วโอกาสไฟเกินค่อนข้างน้อย
ผู้รับเหมาส่วนมากจะติดตั้งมากกว่านี้ ซึ่งอาจเกิดไฟฟ้าส่วนเกินก็จริง แต่อาจจะคุ้มทุนเร็วกว่าก็ได้นะในบางกรณี เพราะการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยของเรามันสูงกว่านี้
ดังนั้นมันขึ้นอยู่กับทางเจ้าของโรงงานว่าจะเชื่อมั่น สิ่งที่ผู้ติดตั้งคำนวณมามากน้อยขนาด ซึ่งโดยปกติต้องใช้โปรแกรมในการคำนวณ หรือจะมีวิธีการหาค่าเฉลี่ยที่มีความซับซ้อนพอสมควร อาจจะลึกเกินไปสำหรับคนทั่วๆไป
ดังนั้นผมแนะนำให้ใช้เลข 412kW เป็นเกณฑ์(ปกติกำลังติดตั้งจะไม่ได้เป๊ะๆ ขึ้นอยู่กับขนาดแผงว่าจะลงที่เลขไหน) และอาจบวกเพิ่มไปได้นิดหน่อยเช่น 50kW ซึ่งก็คิดว่าไม่น่าจะเกิดความเสียหายมากนัก
แต่หากเราคำนวณได้ 412kW แล้วผู้รับเหมาบอกให้ติด 990kW แบบนี้ ผมแนะนำถามเหตุผลว่าทำไมถึงติดขนาดเท่านี้ ถ้าฟังดูแล้วไม่สมเหตุสมผลก็หาเจ้าใหม่ลองเทียบดูนะ
สรุป
วิธีการประมาณขนาดการติดตั้งโซล่าเซลล์ออนกริดคร่าวๆก็ง่ายๆตามด้านบนนะครับ หลักการคือหาวันที่ใช้ไฟน้อยที่สุด แล้วเราก็เอาช่วงเวลาที่ใช้ไฟน้อยที่สุดเป็นเกณฑ์สำหรับขนาดการติดตั้งที่จะไม่ทำให้ไฟฟ้าผลิตเกิน แต่ในความเป็นจริงขนาดอาจ + หรือ – ได้เล็กๆน้อยๆ ไม่มีปัญหาอะไร แต่อย่ามากเกินไป
แต่ก่อนทั้งหมดทั้งมวล หากใครยังไม่ได้เช็คเลยว่าโรงงานเราเหมาะกับการติด Solar Rooftop หรือไม่ ให้เราดูเบื้องต้นที่บทความ “ดูอย่างไรว่าบ้านเราเหมาะกับการติดโซล่าเซลล์” ซึ่งในบทความนั้นผมบอกหลักการใหญ่ๆในการดูเบื้องต้นนะ หากไม่เหมาะที่จะติด จะได้ไม่ต้องเสียเวลามานั่งคำนวณหาขนาดติดตั้ง
สำหรับบ้าน หรือพวกโฮมออฟฟิศจะเป็นอีกวิธี เนื่องจากการเรียกดูข้อมูลของการไฟฟ้าค่อนข้างจำกัดแต่อุตสาหกรรม หากเป็นบ้านอาจต้องใช้วิธีวัดด้วยการจดมิเตอร์แทนครับ
หากสนใจศึกษาเพิ่มดูได้ที่ “วิธีประมาณขนาดการติดตั้งโซล่าเซลล์ ให้เหมาะกับบ้านเรา”
ถ้าใครคิดว่ามีประโยชน์ อยากสนับสนุน ฟังสาระดีๆ ช่วยกด Like กด Share กด Subscribe
ช่อง “Energy for Dummies” ให้ผมด้วยนะ