ในบทความนี้ผมต้องการปูพื้นฐานเกี่ยวกับชนิดของอินเวอร์เตอร์สำหรับมือใหม่ที่เริ่มทำระบบโซล่าเซลล์ off-grid ด้วยคำถามที่ว่าอินเวอร์เตอร์ มีกี่แบบ แต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร
สำหรับคนที่ต้องการจะติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคา บทความนี้อาจจะลึกเกินไปและไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น ผมแนะนำให้ไปดูภาพรวมของระบบโซล่าเซลล์ที่บทความ “ระบบโซล่าเซลล์ on-grid, off-grid, hybrid แตกต่างกันอย่างไร” จะเป็นพื้นฐานที่จำเป็นกว่าบทความนี้ครับ
สารบัญ
- ดูคลิป “ชนิดของอินเวอร์เตอร์ สำหรับงานโซล่าเซลล์ มีกี่แบบ ต่างกันอย่างไร”
- ชนิดของอินเวอร์เตอร์ สำหรับโซล่าเซลล์
- อินเวอร์เตอร์ on-grid
- เอาอินเวอร์เตอร์ off-grid ไปใส่ on-grid ได้ไหม
- อินเวอร์เตอร์ off-grid
- การเลือกอินเวอร์เตอร์ off-grid
- อินเวอร์เตอร์ hybrid
- สรุป
บทความต่อไปนี้ ผมสรุปมาจากคลิปด้านล่างครับ ใครขี้เกียจอ่านก็ฟังในคลิปเอานะ ใครอยากฟังใน Youtube เข้าไปฟังได้ที่ “อินเวอร์เตอร์ มีกี่แบบในงานโซล่าเซลล์ แต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร”
ถ้าใครคิดว่ามีประโยชน์ อยากสนับสนุน ฟังสาระดีๆ ช่วยกด Like กด Share กด Subscribe
ให้ผมด้วยนะ
ชนิดของอินเวอร์เตอร์ สำหรับโซล่าเซลล์
เรื่องชนิดของอินเวอร์เตอร์ เป็นเรื่องที่มือใหม่หัดทำระบบโซล่าเซลล์ ชอบ งง กันมากๆ เพราะว่ามันมีทั้งระบบ on-grid ระบบ off-grid หรือ ระบบ hybrid ซึ่งในแต่ละระบบจะใช้ชนิดของอินเวอร์เตอร์ที่มีความแตกต่างกันทั้งหมด
สำหรับบทความนี้ผมขอไม่พูดถึงอินเวอร์เตอร์ ระบบ hybrid นะครับ อาจจะพูดแค่ผิวๆ เนื่องจากอินเวอร์เตอร์ ระบบ hybrid มีความลึก และหลากหลายอีกค่อนข้างมาก ไว้ผมจะทำบทความแยกให้อ่านกันนะ
อินเวอร์เตอร์ on-grid (Grid-tie Inverter)
เรามาเริ่มต้นจากระบบ on-grid กันก่อน สำหรับอินเวอร์เตอร์ที่ใช้กับระบบนี้เรามักจะเรียกอินเวอร์เตอร์ชนิดนี้ว่า grid-tie อินเวอร์เตอร์ ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน หรือพูดง่ายๆคือเป็นโซล่าเซลล์ที่เราติดกันตามหลังคาบ้านนี่แหละ
อินเวอร์เตอร์ประเภท grid-tie จะมีแยกย่อยออกไปอีก เช่น low volt, high volt หรือจะแบ่งออกเป็น Micro, String, Central อินเวอร์เตอร์ ซึ่งในบทความนี้ผมขอไม่ลงลึกในเรื่องนี้นะ เนื่องจากว่าคงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับระบบ off-grid เท่าไหร่ และถ้าให้อธิบายคงจะยาวเกินไป
แต่ให้สรุปสั้นๆคือ อินเวอร์เตอร์ที่เรานิยมใช้สำหรับติดโซล่าเซลล์ บนหลังคาคือ String อินเวอร์เตอร์ ซึ่งเป็นระบบ high volt
อินเวอร์เตอร์ on-grid มีคีย์สำคัญคือ “เป็นการขนานไฟ” คือไฟฟ้าจากการไฟฟ้าจะไม่ได้ผ่านเจ้าตัวอินเวอร์เตอร์เลย เหมือนอารมณ์เป็นระบบเสริม อะไรทำนองนี้มากกว่า ลองดูรูปด้านบนครับ จะเห็นว่าไฟจากการไฟฟ้าไม่ได้ผ่านเจ้าตัวอินเวอร์เตอร์ on-grid เลย
เอา off-grid อินเวอร์เตอร์ไปต่อ on-grid ได้ไหม
บางคนอาจจะมีคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราเอาอินเวอร์เตอร์ off-grid ไปแทนอินเวอร์เตอร์ on-grid สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ อาจจะเกิดไฟไหม้ที่อินเวอร์เตอร์ของเรา เนื่องจากเกิดไฟฟ้าไหลย้อนกลับมาที่อินเวอร์เตอร์เนื่องจากไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามีแรงดันที่สูงกว่า ดังนั้นไม่ควรทำอย่างยิ่ง พูดง่ายๆคือมันเอาไปต่อขนานไฟกับการไฟฟ้าไม่ได้นั่นเอง
Off-grid อินเวอร์เตอร์ มีกี่ประเภท
สำหรับ off-grid อินเวอร์เตอร์จะแบ่งออกเป็นอีก 2 ประเภทคือแบบ สวิทชิ่ง และแบบหม้อแปลงเทอรอยด์ แบบสวิทชิ่งจะแบ่งออกเป็นอีก 2-3 ประเภทย่อยคือ Pure sine wave และ Modified sine wave ซึ่ง Pure sine wave จะเป็นที่นิยมกว่า เพราะไม่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ามีปัญหา โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความละเอียดอ่อนต่อคลื่นความถี่
ส่วนอินเวอร์เตอร์ประเภท สวิทชิ่ง (รูปด้ายขวา) และหม้อแปลงเทอรอยด์ (รูปด้านซ้าย) มีความแตกต่างกันอย่างไร หากดูจากรูปเราอาจจะมองไม่เห็นความแตกต่างเท่าไหร่ เพราะว่าหน้าตามันคล้ายกัน แต่สิ่งที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนคือ “ราคา” และ “น้ำหนัก” นั่นเอง แต่โดยปกติเวลาเราดูตามร้านออนไลน์ต่างๆ มันจะมีเขียนชัดเจนอยู่แล้วนะ
โดยอินเวอร์เตอร์ประเภทสวิทชิ่งจะมีราคาถูกกว่า และน้ำหนักเบากว่าอินเวอร์เตอร์ประเภทหม้อแปลงเทอรอยด์นั่นเอง
อินเวอร์เตอร์ off-grid แบบไหนที่ควรใช้
คำถามต่อมาคือแล้วเราควรใช้อินเวอร์เตอร์ประเภทไหนหละ หากเราอ่านด้านบนคงจะเห็นชัดว่า ก็ต้องเป็นหม้อแปลงสวิทชิ่งอยู่แล้วสิ เพราะราคาก็ถูกกว่า น้ำหนักก็เบากว่า แต่หากเป็นแบบนั้น อินเวอร์เตอร์หม้อแปลงคงถูกเลิกผลิตไปนานแล้ว
อินเวอร์เตอร์แบบหม้อแปลงเทอรอยด์ก็มีข้อดีเช่นกัน คือสามารถรับกระแสที่กระชากได้ เช่นเราสามารถเอาไปใช้กับ Load ที่มีการกระชากไฟสูงๆได้เช่น ปั๊มน้ำ แอร์ชนาดใหญ่ หรือพูดง่ายๆคือพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทมอเตอร์นั่นเอง พวกนี้จะใช้กระแสสูงตอนสตาร์ทมอเตอร์ ซึ่งกระแสที่ใช้จะสูงกว่าช่วงปกติถึง 3-5 เท่า
อินเวอร์เตอร์ Hybrid น่าใช้ไหม
ทีนี้กลับมาที่อินเวอร์เตอร์ hybrid กันบ้าง หากใครต้องการจะใช้ทั้ง on-grid และ off-grid ก็คงต้องเลือกใช้ระบบ hybrid ซึ่งอินเวอร์เตอร์ประเภทนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะว่ามันคือการเอาอินเวอร์เตอร์ on-grid กับ off-grid มาผสมกันนั่นเอง
พูดง่ายๆคือเหมือนเราติด 2 ระบบ สุดท้ายเราก็ต้องไปนั่งยุ่งยาก เพื่อแยก load ที่เราต้องการจะ back-up อีก (คือต้องเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราไม่ต้องการขนานกับการไฟฟ้าเลย) โดยมากจะเหมาะกับพื้นที่ๆไฟดับบ่อยๆมากกว่า
สรุป
ดังนั้นคำแนะนำของผมคือ หากบ้านไหนมีไฟฟ้าจากการไฟฟ้าใช้ ไฟฟ้าเข้าถึงได้ปกติ ผมแนะนำให้ใช้ on-grid ไปเลยนะ
ระบบ hybrid เค้านิยมใช้กับที่ๆต้องการความเสถียรของไฟฟ้าสูง เช่น โรงพยาบาล หรือในประเทศที่ไฟดับบ่อยๆ ซึ่งไม่ใช่บ้านเราเนื่องจากเรามีกฎหมายของการไฟฟ้าว่า ห้ามไฟดับนานเกินกี่นาที และใน 1 ปี ห้ามไฟดับนานเกินกี่นาทีๆ
และหากบ้านไหนไฟเข้าไม่ถึง และจำเป็นต้องใช้ระบบ off-grid คำแนะนำของผมเป็นแบบนี้นะ หากเราใช้กับ load ของทั้งบ้าน และใช้ร่วมกับ load ที่เป็นมอเตอร์ แนะนำให้ใช้อินเวอร์เตอร์ประเภทหม้อแปลง
หากใครใช้กับ load ทั่วๆไป ให้เลือกใช้อินเวอร์เตอร์แบบสวิทชิ่งไปครับ ราคาถูกกว่ากันเยอะ