คำถามยอดนิยมสำหรับมือใหม่คือ ซื้อแผงโซล่าเซลล์ ได้ที่ไหน แล้วจะรู้อย่างไรว่าแผงที่เราซื้อเป็นของแท้
ก่อนอื่น ผมขอเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า แต่ก่อนตอนผมออกไปดูโครงการโซล่าร์ต่างๆ ผมไม่เคยต้องมาหาวิธีดูแผงโซล่าเซลล์ ว่าแผงนี้เป็นแผงจริงหรือแผงปลอม เพราะส่วนมากรายใหญ่ๆเค้าซื้อแผงโดยการดีลกับผู้ขายโดยตรง
แต่หลังๆมานี่พอผมเริ่มมาทำเกี่ยวกับระบบโซล่าเซลล์ขนาดเล็ก ในตลาดออนไลน์ หรือออฟไลน์ ผมเจอทั้งแผงจริง แผงปลอม แผงเกรด A แผงเกรด B เรียกว่าร้านที่เราไปซื้อนี่ต้องไว้ใจมากๆ
ถ้าดูด้วยตาเปล่า แผงจริงแผงปลอมอาจจะยังพอดูออก แต่ถ้าเป็นแผงเกรด A เกรด B นี่ดูไม่ออกเลย วันนี้ผมจึงมี 6 เทคนิคในการดูแผงโซล่าเซลล์ ว่าร้านไหนขายของจริง ร้านไหนขายของปลอมมาให้เพื่อนๆฟังกันนะ
สารบัญ
- ดูคลิป “วิธีดูแผงโซล่าเซลล์ จริงหรือปลอม เกรด A หรือ B”
- สติ๊กเกอร์เนมเพลท ต้องไม่มีฟองอากาศ และคมชัด
- ขนาดกว้างยาว เท่ากับสเป็คแผง
- กล่องมีสกรีนยี่ห้อครบถ้วน
- ซิลิโคนถูกทำไว้เรียบร้อย
- ซีเรียลนัมเบอร์ตรงกันหน้าหลัง และลิสซีเรียลนัมเบอร์
- มี Letter of Warranty
- วิธีดูแผงเกรด A และ B
- สรุป
บทความต่อไปนี้ ผมสรุปมาจากคลิปด้านล่างครับ ใครขี้เกียจอ่านก็ฟังในคลิปเอานะ ใครอยากฟังใน Youtube สามารถฟังได้ที่ “วิธีเลือกแผงโซล่าเซลล์ ดูอย่างไรแผงจริงหรือปลอม เกรด A หรือ B”
ถ้าใครคิดว่ามีประโยชน์ อยากสนับสนุน ฟังสาระดีๆ ช่วยกด Like กด Share กด Subscribe
ให้ผมด้วยนะ
สติ๊กเกอร์ เนมเพลท
สิ่งแรกที่เราสามารถสังเกตุดูแผงโซล่าเซลล์ได้ง่ายๆเลยคือสติ๊กเกอร์เนมเพลทที่ใช้แปะอยู่หลังแผง ต้องมีการสกรีนที่คมชัด และไม่มีฟองอากาศ ปกติแผงจากโรงงานใหญ่ๆจะถูกแปะโดยเครื่องจักรอยู่แล้ว หากมีฟองอากาศสามารถสันนิษฐานได้เลยว่าอาจจะสลับเนมเพลทกับแผ่นจริง ถ้าเจอก็หนีให้ไกลได้เลย
ความหนา ระยะกว้าง ยาวของแผง
อย่างที่สองคือพวกขนาดความหนา ขนาดแผงต่างๆ โดยทั่วไป แผงแต่ละยี่ห้อมันจะขนาดไม่เท่ากับเป๊ะๆ เราสามารถเอาตลับเมตรติดตัวไปวัดคร่าวๆได้ ว่าขนาดตาม data sheet หรือเปล่า ถ้ามันผิดไปมากก็น่าสงสัยอยู่นะว่าทำไมไม่ตรงกับ data sheet ถ้าผมเจอแบบนี้คงจะถอยห่างดีกว่า (รูปภาพจาก Seraphim)
การสกรีนบนกล่องใส่พาเลท
อีกอย่างนึงที่ดูได้ค่อนข้างง่ายคือกล่องที่ใส่ พาเลทมา ถ้าเป็นแผงมียี่ห้อส่วนมากจะสกรีนกล่องเป็นยี่ห้อแผงครับ รูปด้านล่างผมเอามาจาก Baan Solar Cell นะ (ไม่ได้สปอนเซอร์อะไร แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าร้านนี้ขายของแท้ครับ)
ความเนี๊ยบของซิลิโคน
อย่างต่อมาที่เราสามารถดูได้คือ งานซีลีโคลน มีการทำมาอย่างเรียบร้อยหรือเปล่านะครับ ถ้าอย่างพวก Tier 1 นี่ส่วนมากคุณภาพการอัดซิลิโคลนจะค่อนข้างดีระดับนึงครับ
แผงที่ผมถ่ายมาเป็นของ Seraphim นะ เป็นแผง Tier1 งานค่อนข้างดีเช่นกันครับ
ซีเรียลนัมเบอร์
ถัดมาที่สำคัญคือเรื่องของซีเรียลนัมเบอร์ เป็นอีก 1 อย่างที่สำคัญมาก แต่หากซื้อร้านออนไลน์นี่อาจจะตรวจสอบยากนิดนึงครับ วิธีสังเกตุคือ ถ้าเป็นแผงยี่ห้อโอเคๆหน่อย จะมีซีเรียลนัมเบอร์ติดมาทั้งด้านหน้าแผง และด้านหลังแผง และต้องตรงกันด้วยนะ ด้านหน้าแผงต้องอยู่ในกระจกนะครับ
พอเราเช็คซีเรียลนัมเบอร์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังแล้ว ให้เราขอดูใบซีเรียลนัมเบอร์ มันจะเป็นตารางซีเรียลนัมเบอร์ของแผงทั้งหมดในพาเลทนั้นๆ และเราก็เช็คดูว่าซีเรียลนัมเบอร์ของแผงเรามีอยู่ในใบนั้นหรือไม่
Letter of Warranty
อย่างสุดท้ายที่ผมอยากให้ดู หากเป็นไปได้ คือ letter of warranty ในนี้เค้าจะมีการคอนเฟิมให้ร้านตัวแทนจำหน่ายว่ามีการซื้อจำนวนกี่แผง เป็นเกรดอะไร (ผมไม่แน่ใจว่าแผงยี่ห้ออื่นมีหรือเปล่านะครับ แต่แผง Jinko มีครับ) แล้วในเอกสารแนบท้ายก็จะมีซีเรียลนัมเบอร์ทั้งหมดให้ครับ เราก็ขอเช็คตรงนั้นได้
รูปด้านบนที่ผมเอามาโชว์เป็นของ Baan Solar Cell ขอให้เครดิตเค้าหน่อยนะ เพราะผมชื่นชมร้านที่เอาของจริงมาขาย ยอมเอามาสต๊อค แล้วขายปลีกให้พวกเราใช้กัน เพราะจริงๆแผงนึงนี่รวมค่าขนส่งต่างๆแล้วกำไรไม่กี่บาท การขายปลีกทีละ แผงสองแผงนี่ค่อนข้างวุ่นวายนะ
ซึ่งต้องขอย้ำอีกครั้งว่าร้านที่ผมเอามาเขียนบทความทั้งหมด ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกัน ไม่ได้รับจ้างอะไรทั้งสิ้นครับ แต่ผมไปนั่งค้นหาร้านที่ขายของจริง เอาเป็นว่ามันหายากมากๆ เรียกว่า 20% ของจริง 50% ไม่แน่ใจ อีก 30% นี่ของปลอมแบบชัดเจน
ในการซื้ออนไลน์ เราขอดูเอกสารพวกนี้ยากหน่อย บางร้านก็ไม่ได้มีให้ บางร้านก็ไม่ตอบ แต่ถ้าร้านไหนมีเอกสารพวกนี้ให้เราดูได้อย่างเปิดเผย ดูจากรูปถ่าย รีวิวต่างๆ แล้วตรงตามด้านบน เราสามารถเชื่อมั่นได้ประมาณนึงเลยว่าเป็นของจริงครับ
วิธีดูแผงโซล่าเซลล์ เกรด A เกรด B
แต่อย่างที่บอกไปด้านบนว่าเราสามารถขอดูจาก letter of warranty ได้ แต่ได้เฉพาะบางยี่ห้อ อย่าง Jinko ขอได้ ถ้าเกิดร้านไหนมีแผงยี่ห้ออื่นๆ มีใบคอนเฟิมว่าเป็นของแท้ สามารถส่งมาให้ผมโพสได้
ซึ่งใน letter of warranty ก็จะมีบอกไว้ด้วยว่าเป็นแผงเกรด A เกรด B อย่างของ Jinko จะมีระบุไว้ครับ
อีกอย่างที่พอจะสังเกตุได้คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายโดยตรง อย่างร้านนึงขายของ GCL อันนี้ผมไปสืบมาปรากฎว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายแผง GCL อย่างเป็นทางการเลย ซึ่งผมคิดว่าเค้าไม่เอาเครดิตของเค้ามาเสียความเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างแน่นอน เพราะพวกนี้ไม่ได้ขอกันง่ายๆ
อย่างร้านชื่อว่า ร้านนี้เค้าเป็นตัวแทนจำหน่ายของ GCL อย่างเป็นทางการเจ้าเดียวของประเทศไทย
อีก 1 ร้านที่ผมเจอมาคือร้านชื่อว่า Godangfaifa อ่านว่าโกดังไฟฟ้า ตอนแรกที่ผมเห็นราคาของร้านนี้ผ่านๆ คิดว่าทำไมมันถูกผิดปกติ อย่างแผง Longi 450W ราคาอยู่ที่ประมาณ 3750 บาท แผง JA Solar 540W ราคาอยู่ที่ 4550 บาท (ราคายังไม่รวม Vat รวมแล้วยังถือว่าค่อนข้างถูกนะ)
ซึ่งตอนแรกบอกตามตรงผมไม่คิดว่าจะเป็นของจริง แต่พอดีเหลือบไปเห็นเขียนว่า Powered by Gunkul เลยเก็ทในทันทีว่าทำไมถึงราคาถูก ซึ่งนี่เป็นอีกช่องทางนึงที่เราจะสามารถซื้อของราคาถูกได้ ก็คือผู้ขายที่เป็นรายใหญ่ทำพวก โซล่าฟาร์มนั่นเอง
ผู้ขายรายใหญ่แบบนี้จะสามารถนำเข้าได้ในราคาที่ถูกกว่าผู้ขายรายเล็กอื่นๆ และมั่นใจได้พอสมควรว่าเป็นแผงแท้ครับ
ที่ผมค่อนข้างประทับใจร้านนี้อีกอย่างคือ ค่าส่งถูกมากๆ ตกแผงละ 100บาท เท่านั้นเอง
ที่ผมมั่นใจจะมี 3 ร้านที่ผมบอกไป ผมจะเอาลิงค์ของทั้ง 3 ร้านแปะไว้ให้นะครับในหน้า “แผงโซล่าเซลล์” เผื่อใครสนใจ ถ้ามีร้านอื่นๆอีกเพื่อนๆแจ้งเข้ามาได้นะ ผมยินดีเอามาแปะที่เว็บไห้ครับ
ยังไงถ้าใครมีร้านใกล้บ้าน แล้วต้องการซื้อก็ลองดูตามที่ผมบอกนะ หรือไม่อย่างงั้นก็ซื้อจากร้านที่มีความน่าเชื่อถือครับ
สรุป
โดยสรุปวิธีการดูแผงจริงแผงปลอมมี 6 อย่างง่ายๆด้วยกันคือ ดูที่เนมเพลทว่ามีฟองอากาศหรือไม่ ปริ้นคมชัดหรือไม่ ขนาดความหนาต่างๆตรงตาม data sheet หรือเปล่า กล่องที่ใส่พาเลท มีสกรีนยี่ห้อครบถ้วนหรือเปล่า งานซีลีโคลนต่างๆ ซีเรียลนัมเบอร์ และ letter of warranty นะ 6 ข้อถ้ามีก็ค่อนข้างมั่นใจได้ในระดับนึงครับ