บทนี้จะพูดถึงเรื่องของ ไฟฟ้ากระแสตรง ไฟฟ้ากระแสสลับ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเริ่มต้นทำระบบโซล่าเซลล์เช่นกัน หากใครที่มีพื้นฐานตรงนี้อยู่แล้วสามารถผ่านไปได้เลยนะ ในระบบโซล่าเซลล์จะเป็นไฟฟ้ากระแสตรงทั้งหมดเลย ซึ่งอุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบเกือบทั้งหมดจะเป็นคนละชนิดกับอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วๆไปที่เราใช้ตามบ้าน
สารบัญ
- ดูคลิป “ไฟฟ้ากระแสตรง กระแสสลับ DC AC ในงานโซล่าเซลล์ off-grid”
- สัญลักษณ์ไฟ DC และ AC
- ความแตกต่างระหว่างไฟ DC และ AC
- ไฟฟ้า DC และ AC ในงานโซล่าเซลล์
- สรุป
บทความต่อไปนี้ ผมสรุปมาจากคลิปด้านล่างครับ ใครขี้เกียจอ่านก็ฟังในคลิปเอานะ ใครอยากฟังใน Youtube คลิกที่นี่ได้เลยครับ “ความแตกต่างไฟฟ้ากระแสตรง กระแสสลับ DC AC โซล่าเซลล์ และไฟบ้าน”
ถ้าใครคิดว่ามีประโยชน์ อยากสนับสนุน ฟังสาระดีๆ ช่วยกด Like กด Share กด Subscribe
ให้ผมด้วยนะ
สัญลักษณ์ไฟ DC และ AC
ไฟฟ้ากระแสตรงจะใช้ตัวย่อว่า DC และกระแสสลับจะใช้ตัวย่อว่า AC ส่วนนิยามลึกๆผมอาจจะไม่ได้พูดถึงนะครับ เพราะคงไม่ได้ใช้อะไร แต่หลักๆการผลิตไฟฟ้า DC และ AC มันมีความแตกต่างกัน การนำไปใช้งานก็แตกต่างเช่นกัน
ไฟบ้านของเราจะเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ AC ส่วนไฟฟ้ากระแสตรง DC จะมาจากพวก แบตเตอรี่ หรือโซล่าเซลล์ อย่างเช่นมือถือ ไอแพดของเราจะเป็นไฟฟ้ากระแสตรงเกือบทั้งหมด
อย่างรูปด้านล่างจะเป็นเครื่องวัดไฟ เราจะเห็นสัญลักษณ์ของไฟ DC และ ไฟ AC ที่แตกต่างกัน เราสามารถเอาสัญญาลักษณ์นี้ไปดูกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆทั่วไปได้เลย
ความแตกต่างไฟ DC และ AC
การที่เราจะเอาไฟบ้านไปชาร์ทมือถือ หรือชาร์จกับไอแพดของเรา จึงมีความจำเป็นต้องใช้อแดปเตอร์เพื่อแปลงไฟกระแสสลับ (AC) ไปเป็นไฟกระแสตรง (DC) หรือเราอาจจะเห็นบางเคสที่เป็นไฟฟ้า AC เหมือนกันแต่กลับต้องใช้อแดปเตอร์เช่นกัน
ซึ่งการที่ต้องใช้อแดปเตอร์ ไม่ได้หมายความว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าพวกนั้นเป็นไฟฟ้า DC แต่เหตุผลมาจากบางที voltage มันแตกต่างกัน เช่น เราซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อเมริกา แล้วเอามาใช้ที่ไทย แบบนี้เราต้องใช้อแดปเตอร์ เพราะว่า voltage ไฟบ้านของอเมริกาจะอยู่ที่ 110V ในขณะที่ของไทยอยู่ที่ 220V ซึ่งมันใช้ด้วยกันไม่ได้
ปกติจะมีข้อสังเกตุอีกประมาณ 2 ข้อ ในการดูว่ามันเป็น AC หรือ DC
สำหรับไฟฟ้ากระแสสลับ เราจะสามารถสลับขั้วไปมาได้ โดยที่เครื่องใช้ไฟฟ้าก็ยังทำงานได้ปกติไม่มีปัญหาอะไร ในขณะที่ไฟกระแสตรงทำไม่ได้ หัวมันจะแตกต่างกัน อย่างตัวอย่างในรูปด้านล่างนะ เป็นหัว XT60 สำหรับไฟกระแสตรง หากเราสังเกตุดีๆ สองขั้วมันจะหน้าตาไม่เหมือนกับ ทำให้เราไม่สามารถเสียบสลับขั้วได้อย่างแน่นอน
ไฟฟ้ากระแสตรง และกระแสสลับ ในงานโซล่าเซลล์
วิธีสังเกตุอีกอย่างคือ เวลาเราไปดูฉลากเครื่องใช้ไฟฟ้ามันจะมีเขียนว่าใช้ไฟกี่ เฮิร์ต (Hz) เช่น 50Hz 60Hzแบบนี้ก็มั่นใจว่าคือกระแส AC แน่ๆ เพราะไฟ DC จะไม่มีความถี่นะ
ปกติไฟ AC จะมี volt ที่สูง อย่างไฟบ้านเรา 220V นี่ถือว่าต่ำเกือบที่สุดในระบบ ถ้าเราออกไปตามชานเมืองเห็นเสาไฟใหญ่ๆพวกนี้ไฟเป็นหลักหมื่น volt นะ เนื่องจากการเชื่อมโยงไฟฟ้าระยะไกลๆ การใช้ volt สูงๆจะทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้สายไฟขนาดใหญ่ จึงประหยัดค่าใช้จ่าย
ส่วนในระบบ DC จะใช้ voltage ไม่สูงมากเช่น 12V 24V 48V ซึ่งหากไม่เกิน 30V โดยประมาณ มักจะไม่เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์
แต่ถ้าเป็นระบบใหญ่ๆจะใช้ volt สูงขึ้นมาเช่น 300-600V การติดตั้งจะต้องใช้ช่างผู้ชำนาญ เพราะกระแส DC voltage สูงมีความอันตรายค่อนข้างมาก
อย่างที่เล่าไปตะกี้ว่าในระบบโซล่าเซลล์ขนาดเล็ก มักใช้ voltage ต่ำอย่าง 12V 24V หากเครื่องใช้ไฟฟ้ากินไฟเท่ากัน แต่ voltage ต่ำ สิ่งที่จะเกิดคือ กระแส หรือ I จะสูง ตามบทเรียนพื้นฐานที่เราเรียนกันในบทก่อนๆเรื่อง “สูตรพื่้นฐานไฟฟ้า P = I x V” ผลที่ตามมาคืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆจะต้องรับกระแสสูงๆได้ ทำให้มีราคาที่แพงขึ้นตามไป
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ยิ่งระบบที่เราออกแบบมี voltage ต่ำ จะยิ่งทำให้ราคาอุปกรณ์สูงขึ้นนั่นเอง
ดังนั้นโซล่าเซลล์ระบบใหญ่ๆจึงมักทำให้ voltage สูงๆเพื่อที่อุปกรณ์ต่างๆมีขนาดเล็กลง ทำให้ประหยัดค่าอุปกรณ์มากขึ้น แต่หากใครทำระบบเล็กๆ อย่างในบ้านสวน หรือเอาไปใช้ตามไร่ตามนา แบบนี้เราใช้ระบบ 12V 24V ก็พอนะ
แต่หากมีความจำเป็นต้องเดินสายไกลๆ ผมแนะนำให้แปลงเป็นไฟ AC 220V ก่อนแล้วค่อยเดินสายนะครับ จะได้ไม่ต้องใช้สายไฟที่ใหญ่มาก (ราคาสายไฟขนาดใหญ่กับขนาดเล็กนี่ราคาต่างกันมากนะ)
สรุป
โดยสรุปในการทำงานสายโซล่าเซลล์ เราจะทำงานกับไฟ DC หรือไฟกระแสตรงเป็นหลัก ซึ่งโดยมากโซล่าเซลล์ off-grid ที่เราทำเองได้จะมีค่า voltage ที่ค่อนข้างต่ำ อยู่ราวๆ 12-24V ซึ่งไม่ทำอันตรายต่อร่างกายมนุษย์
โดยเราจะทำการแปลงไฟจากโซล่าเซลล์เป็นไฟบ้านที่เราใช้กันอยู่ทั่วๆไปโดยเครื่องมือที่ชื่อว่า “อินเวอร์เตอร์” ซึ่งจะทำให้เราใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วๆไปกับระบบของเราได้
ถ้าใครคิดว่าเนื้อหานี้มีประโยชน์ฝากเข้าไปกดติดตาม กดไลค์ให้ช่อง “Energy for Dummies” หน่อยนะจ้า