ฟิวส์ เบรคเกอร์ สวิทช์ รีเลย์ ใช้งานอย่างไร
ปกติเบรคเกอร์เป็นอุปกรณ์ความปลอดภัยเมื่อมีกระแสเกิน หากใครดูคลิป “อุปกรณ์ในระบบโซล่าเซลล์” จะเห็นว่าผมเอามาใช้เป็นสวิทช์แทน ซึ่งจริงๆอาจจะไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นสวิทช์โดยเฉพาะ ยิ่งหากใครใช้วงจรที่มี voltage สูงยิ่งต้องระวัง อุปกรณ์ที่ควรใช้เป็นสวิทช์ในระบบ DC จริงๆแล้วคือ DC Isolator Switch ซึ่งจะมีความปลอดภัยมากกว่า และในส่วนการป้องกันกระแสเกินในวงจร DC มักจะนิยมใช้ฟิวส์เป็นตัวป้องกันมากกว่าเบรคเกอร์
อีกอุปกรณ์นึงที่ควรมีคือ DC Surge Protection เป็นตัวป้องกันฟ้าผ่า ซึ่งตัวนี้แนะนำให้ติดเพื่อป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์ บางทีฟ้าอาจจะไม่จำเป็นต้องผ่ามาที่แผงของเรา แต่หากมีฟ้าผ่าใกล้ๆแล้วเกิดกระแสเหนี่ยวนำก็ทำให้อุปกรณ์ของเราพังได้เช่นกันครับ
คนส่วนมากน่าจะคุ้นเคยกับเบรคเกอร์มากกว่าฟิวส์เพราะนิยมใช้ในระบบ AC แต่ว่าพอเรามาเริ่มทำระบบโซล่าเซลล์ เราจะเริ่มคุ้นเคยกับฟิวส์มากขึ้น โดยปกติเบรคเกอร์กับฟิวส์จะมีหน้าที่คล้ายๆกัน โดยฟิวส์มันก็มีหลายประเภท แต่หลักๆที่ผมใช้ในระบบโซล่าร์จะมี 3 ประเภทหลักๆ คือ ANL fuse, mini ANL fuse, แล้วก็ MC-4 fuse
ANL fuse ผมจะใช้ต่อกับแบตเตอรี่เป็นหลัก เพราะว่าเป็นฟิวส์ที่รับกระแสได้ค่อนข้างสูง ขนาดอย่างต่ำๆก็มี 80A ขึ้นไป ส่วน mini ANL fuse จะมีตั้งแต่ 10A จนถึง 100A ผมชอบใช้ mini ANL fuse ตรงบริเวณสายที่ออกจาก solar charge controller ส่วน MC-4 fuse มักจะใช้ระหว่างแผงมาที่ solar charge controller ข้อดีของ MC-4 fuse คือสามารถติดใกล้กับแผงโซล่าร์ได้ แต่หากใครดูในระบบผม ผมใช้ mini ANL fuse เพราะตอนนั้น MC4 fuse ของมันมาช้า
ผมขอเน้นตรง MC-4 fuse นิดนึงนะ ถ้าต่อแผงขนานตั้งแต่ 2 สตริงขึ้นไปควรใส่ MC-4 fuse ที่ทุกสตริงนะครับ ยิ่งระบบที่มีการต่อขนานหลายๆแผงยิ่งต้องใส่ เหตุผลเพราะว่าบางทีมันมีเหตุการณ์ที่แผงในสตริงนึงเสีย ทำให้กระแสไหลย้อนไปที่สตริงนั้นๆทำให้เกิดไฟไหม้ที่แผงได้ ก็ใส่กันไว้เพื่อความปลอดภัยนะครับ ราคาไม่ได้แพงอะไร